ภาษี ขายของออนไลน์

ภาษี ขายของออนไลน์ การจ่ายภาษีให้แก่รัฐ กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ ไม่ว่าใครก็ตามจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ถ้าหากมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ ก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีให้แก่รัฐ ส่วนการจะเสียกันอย่างไร เสียเมื่อไหร่และจำนวนเท่าไหร่ อาจดูจะเป็นเรื่องยุ่งยากซักหน่อยสำหรับคนที่ยังไม่เคยเสียภาษีมาก่อน อย่างไรก็ตามความไม่รู้นั้น ก็ไม่สามารถนำมาเป็นข้ออ้างได้ ดังนั้น จำเป็นต้องศึกษากันไว้ด้วย โดยเฉพาะ คนขายของออนไลน์ ที่กำลังนิยมทำกันมากทั้งในรูปแบบคนธรรมดาหรือจัดตั้งบริษัทขึ้นมาทำก็ตามที

ขายของออนไลน์

ภาพจาก https://www.pexels.com

คนขายของออนไลน์ เมื่อขายสินค้าได้ก็ถือว่าเป็นรายได้ และรายได้นั้นจะต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีให้แก่รัฐ หากขายในรูปคนธรรมดาก็เสียภาษีแบบคนธรรมดา หากขายในรูปแบบบริษัทก็ต้องเสียภาษีในรูปแบบบริษัท จำนวนภาษีก็จะแตกต่างกันไปตามแต่จำนวนของรายได้ รายได้น้อยก็เสียน้อย รายได้มากก็เสียมาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ใช่ว่ารัฐจะตั้งหน้าตั้งตาเก็บภาษีรายได้ทุกบาททุกสตางค์ แต่จะยินยอมให้ผู้เสียภาษีนำค่าใช้จ่ายหรือรายจ่าย รวมถึงค่าลดหย่อนต่างๆ มาหักออกจากรายได้เสียก่อน เมื่อหักแล้วเหลือเงินสุทธิเท่าไหร่ จึงค่อยนำมาคำนวณภาษี ถ้าบุคคลธรรมดาเหลือเงินได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสีย (150,001 บาทขึ้นไป) ก็ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสีย หากเป็นนิติบุคคลหรือบริษัทหักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว หากไม่มีกำไรก็ไม่ต้องเสียเช่นเดียวกัน เพราะรัฐจะเก็บภาษีจากบุคคลธรรมเฉพาะมีรายได้ถึงเกณฑ์ และจากบริษัทที่มีกำไรเท่านั้น

การยื่นแบบแสดงรายการผู้เสียภาษี บุคคลธรรมดาให้ยื่นกันปีละหนึ่งครั้งภายในวันที่ 30 เมษายน ของทุกปี แต่สำหรับนิติบุคคลหรือบริษัทต้องยื่นทุกๆ 6 เดือน ขึ้นอยู่กับรอบระยะเวลาบัญชีกำหนดไว้อย่างไร ดังนั้นไม่ว่าจะมีรายได้ถึงเกณฑ์หรือไม่ ผลประกอบการบริษัทจะมีกำไรหรือ ก็ต้องยื่นแบบแสดงรายการผู้เสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนด

ขายของออนไลน์

 ภาพจาก https://www.pexels.com

แต่ถ้ามีรายได้แล้วไม่ยื่นเสียภาษีหรือยื่นเสียภาษีไม่ตรงกับความเป็นจริง ผลจะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่ว่าจะบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลพึงต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก เพราะถ้ามีรายได้แล้วไม่ยื่นรายการผู้เสียภาษี หรือยื่นไม่ตรงกับความเป็นจริงของรายได้ ผลลัพธ์ ก็คือ จะต้องเสียค่าปรับเป็นจำนวน 2 เท่าของภาษีที่ต้องเสีย และเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน อีกทั้งสรรพกรมีเวลาถึง 10 ปี ในการตรวจสอบภาษีย้อยหลัง ซึ่งไม่วันใดก็วันหนึ่งจะต้องถูกตรวจพบ และไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ ต้องหาเงินมาชำระทั้งภาษีย้อนหลัง ทั้งค่าปรับและเงินเพิ่มให้ครบถ้วน หากหาเงินมาชำระไม่ได้ก็ต้องถูกยึดทรัพย์สินเพื่อนำมาชำระภาษีแทน

ในปัจจุบันเทคโนโลยีมีความทันสมัย การตรวจสอบติดตามของสรรพกรทำได้ไม่ยาก ประกอบกับการได้รับความร่วมมือจากสถาบันการเงิน ที่จะเป็นผู้รายงานธุรกรรมทางการเงินของผู้เสียภาษีให้สรรพกรทราบแล้ว ยังมีหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ เช่นกรมศุลกากร กรมสรรพสามิต กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกระทรวงมหาไทย ที่จะร่วมกันรายงานความเคลื่อนไหวทางการเงินของผู้เสียให้กรมสรรพกรได้รับทราบ และข้อมูลต่างๆ จะถูกเก็บรวบรวมเป็น Big Data ทีสรรพกรสามารถตรวจจับได้อย่างไม่ยากเย็น

ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีอีกตัวหนึ่ง ถ้าคนขายสินค้าออนไลน์มีรายได้ก่อนหักรายจ่าย จากการขายและให้บริการถึง 1,800,000 บาทต่อปี แต่ไม่ขึ้นทะเบียนและชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม จะยิ่งเจอสรรพากรไล่เช็คย้อนหลังนับตั้งแต่มีรายได้ถึงเกณฑ์และต้องรับผิดชอบในภาษีมูลค่าเพิ่มแทนลูกค้าที่ไม่ได้เรียกเก็บย้อนหลังเป็นเงินมหาศาลที่เดียว

ขายของออนไลน์

ภาพจาก https://www.pexels.com

คนขายสินค้าออนไลน์ กับภาระภาษีพึงต้องให้ความสำคัญอย่างมาก หากเห็นว่ามีรายได้เข้าเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีก็ควรดำเนินการยื่นภาษีและเสียภาษีอย่างตรงไปตรงมาในทุกๆ ปี หากไม่รู้หรือไม่แน่ใจ ก็ควรขอคำแนะนำและปรึกษาสำนักงานบัญชี ก็จะช่วยในเรื่องความผิดพลาดได้