การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท

ในยุคดิจิทัล ช่วยให้การทำธุรกิจเป็นเรื่องง่ายไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอะไรก็ตาม หลายคนใฝ่ฝันอยากจะมีธุรกิจเป็นของตัวเองมากกว่าการเป็นลูกจ้างใคร และแน่นอนว่าคุณก็น่าเป็นอีกคนหนึ่งที่คิดเช่นนั้น หากคุณทำมันสำเร็จ ความสำเร็จนั้นจะเปลี่ยนชีวิตคุณไปในทันที เพราะผลตอบแทนที่ได้รับมีทั้งทรัพย์สินเงินทอง เกียรติยศและความภูมิใจจากผลสำเร็จที่ได้ทำ การเริ่มต้นทำธุรกิจ อาจจะเริ่มได้ในหลายรูปแบบ จะทำในนามบุคคลธรรมดา หรือจะจัดตั้งบริษัทเป็นนิติบุคคลขึ้นมาทำก็ได้ แต่การทำในรูปแบบบริษัทจะมีความน่าสนใจกว่า นอกจากจะช่วยสร้างประสบการณ์ในการทำธุรกิจให้กับตัวเองแล้ว ยังให้ความน่าเชื่อถือที่มากว่า ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ดีกว่า และโอกาสสร้างผลกำไรและการเติบโตที่ดีและยั่งยืนกว่าการทำธุรกิจในนามบุคคลธรรมดา

จดบริษัท

ภาพจาก www.pexels.com 

การจะจัดตั้งบริษัทขึ้นมาทำธุรกิจ หลายคนอาจมีความเป็นห่วงว่าการดำเนินการในรูปแบบบริษัทมีกฎเกณฑ์มากมายที่จะต้องปฏิบัติตาม ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามอาจมีความผิดตามกฎหมาย อีกทั้งน่าจะมีต้นทุนรายจ่ายที่สูงกว่า เลยคิดว่าทำในนามบุคคลธรรมดาจะดีกว่า ก็อาจจะจริงอยู่บ้าง แต่นั่นไม่ใช่ความคิดที่ดีสำหรับคนที่มีแผนทำธุรกิจแบบยั่งยืน มองความมั่งคั่งและมั่นคงของธุรกิจและการเติบโตในระยะยาว ต้องการต่อยอดธุรกิจแบบไร้ขีดจำกัด การตั้งบริษัทขึ้นมาทำจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

การจัดตั้งบริษัทจะต้องทำอย่างไรบ้าง แน่นอนว่าการจัดตั้งบริษัทจะต้องทำการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทกับหน่วยงานของรัฐ ซึ่งก็คือกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และก่อนจะจดทะเบียนจัดตั้งได้ คุณจำเป็นต้องทราบก่อนว่าจะตั้งชื่อบริษัทว่าอะไร สำนักงานจะตั้งอยู่ที่ไหน มีวัตถุประสงค์การตั้งบริษัทเพื่อทำอะไร เช่น จำหน่ายสินค้าและให้บริการ จะใช้เงินทุนจดทะเบียนเท่าไร่ มีใครร่วมถือหุ้นบ้าง จะให้ใครเป็นกรรมการผู้มีอำนาจบริหารจัดการ และจะตั้งใครเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีของบริษัท หากได้ข้อสรุปเหล่านี้แล้ว ก็สามารถดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งได้ อย่างไรก็ตามการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ข้อกำหนดกฎเกณฑ์และใช้แบบฟอร์มของกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องให้รายละเอียดหลายอย่างมากหน่อยและดูเหมือนว่าจะเป็นข้อยุ่งยาก แต่โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ต้องการจดทะเบียนบริษัทก็จะใช้บริการของสำนักงานกฎหมายหรือสำนักงานบัญชีช่วยดำเนินการให้ ก็จะลดภาระความยุ่งยากส่วนนี้ไปได้

จดบริษัท

ภาพจาก DBD

ขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัท

  1. ขั้นตอนการจองชื่อบริษัท เกณฑ์ของกระทรวงพาณิชย์ ไม่อนุญาตให้ชื่อบริษัทที่จะจัดตั้งไปซ้ำกันกับบริษัทที่มีการจดทะเบียนไว้ก่อนหน้าแล้ว ผู้จะจัดตั้งต้องทำการจองชื่อบริษัทก่อน หากชื่อที่ขอจองไปซ้ำกันกับบริษัทอื่นก็จะไม่ได้รับอนุญาตต้องเปลี่ยนชื่อจองใหม่ ถ้าหากไม่ซ้ำกับใครก็จะอนุญาตให้ใช้ชื่อนั้นได้ชื่อบริษัทต้อง ขึ้นต้นด้วยคำว่า “บริษัท” และต้องมีคำว่า “จำกัด” อยู่ท้ายชื่อ สามารถตั้งเป็นชื่อไทยหรือชื่อภาษาต่างประเทศหรือทั้งไทยและต่างประเทศก็ได้
  2. ขั้นตอนการจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ หรือบันทึกการร่วมทุนเพื่อจะก่อตั้งบริษัทของผู้เริ่มก่อการ ซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีจำนวนผู้เริ่มก่อการไม่น้อยกว่า 3 คน และผู้เริ่มก่อการทุกคนต้องถือหุ้นในบริษัทที่จะจะทะเบียนไม่น้อยกว่า 1 หุ้นด้วย หนังสือบริคณห์สนธิต้องระบุรายละเอียด ชื่อบริษัทที่จะจัดตั้ง สำนักงานจะตั้งอยู่ ณ จังหวัดใด วัตถุประสงค์ของบริษัทมีกี่ข้ออะไรบ้าง จำนวนทุนที่จะจดทะเบียนเท่าไหร่แบ่งออกเป็นกี่หุ้น ราคาหุ้นละเท่าไหร่ ระบุชื่อ ที่อยู่และลายเซ็นผู้เริ่มก่อการทุกคน โดยมีพยานลงลายมือชื่อรับรอง 2 คน
  3. ขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัท เมื่อจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิเรียบร้อยแล้ว ผู้เริ่มก่อการจะต้องดำเนินการจัดประชุมผู้เริ่มก่อการและผู้ที่จะมาเป็นผู้ถือหุ้น จัดทำรายงานการประชุม เรียกเก็บเงินค่าหุ้น จัดทำบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น แล้วนำไปจดทะเบียนต่อไปกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิช ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัท

การจดทะเบียนบริษัท แม้จะมีขั้นตอนการดำเนินการหลายขั้นตอน แต่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าสามารถดำเนินการรับจดทะเบียนให้แล้วเสร็จไปพร้อมกันได้ภายในวันเดียวเลย อีกทั้งกรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังมีให้บริการรับจดทะเบียนทางอินเตอร์เน็ตหรือ e-Services อีกด้วย ดูคำอธิบายการจดทะเบียนบริษัทเพิ่มเติมได้ที่ http://www.dbd.go.th/download/downloads/03_boj/intro_step_bj_establish_1.pdf

เอกสารที่ต้องใช้ประกอบการขอจดทะเบียนบริษัท

เอกสารที่ต้องใช้ประกอบการขอจดทะเบียนบริษัท นอกจากผู้ขอจดทะเบียนจะต้องกรอกรายละเอียดตามชุดแบบฟอร์มของกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์แล้ว ผู้ขอจดทะเบียนสามารถดูตัวอย่างชุดแบบฟอร์มได้ที่ http://www.dbd.go.th/download/downloads/03_boj/sample_boj4.pdf ผู้ขอจดทะเบียนต้องใช้เอกสารดังต่อไปนี้ประกอบด้วยคือ

  1. ชุดแบบพิมพ์คำขอจดทะเบียน กรอกรายละเอียดให้ครบถ้วนพร้อมลายมือชื่อ โดยมีคำรับรองลายมือชื่อ รับรองโดยสมาชิกสามัญหรือวิสามัญแห่งเนติบัณฑิตสภา ก็คือทนายความพร้อมใบอนุญาตทนายความ
  2. สำเนาทะเบียนบ้าน สถานที่ตั้งบริษัทที่จะจดทะเบียน หรือ สำเนาสัญญาเช่าสถานที่แล้วแต่กรณี พร้อมหนังสือยินยอมของเจ้าของสถานที่อนุญาตให้ใช้สถานที่เป็นที่ตั้งบริษัทที่จะจดทะเบียน
  3. สำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประจำตัวประชาชน ของผู้เริ่มก่อการจัดตั้งบริษัทและผู้ที่จะมาเป็นกรรมการบริษัททุกคน
  4. สำเนาใบรับเงินค่าหุ้นที่ออกให้แก่ผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นบริษัทที่จะจดทะเบียน
  5. ตราประทับของบริษัท (ถ้ามี)

เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจเอกสารแล้วเห็นว่าครบถ้วนและถูกต้อง ก็จะดำเนินการรับจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทและออกหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทให้ โดยผู้ขอจดทะเบียนต้องชำระค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน ตามอัตราที่กำหนด

จดบริษัท

ภาพจาก Departemnt of Business Development (DBD)

การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

เมื่อจดทะเบียนบริษัทแล้ว หากบริษัทประกอบกิจการขายสินค้าและบริการ และมียอดขายสินค้าและบริการถึง 1.8 ล้านบาทต่อปี กฎหมายภาษีอากรกำหนดให้บริษัทจะต้องขึ้นทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT ซึ่งบริษัทจะต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าและบริการทุกครั้งเป็นภาษีขาย ปัจจุบันอยู่ที่อัตรา 7 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายสินค้าหรือบริการเพื่อนำส่งสรรพกรทุกเดือน แต่ถ้าหากบริษัทมีภาษีซื้อมากกว่าภาษีขายรวมอยู่ด้วย ก็สามารถนำภาษีซื้อมาหักกับภาษีขาย และขอคืนส่วนต่างของภาษีมูลค่าเพิ่มคืนจากสรรพกรได้ ถือเป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำเร็จบริษัทที่ขึ้นทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ถ้ามียอดขายสินค้าหรือบริการไม่ถึง 1.8 ล้านบาท ก็ได้รับยกเว้นไม่ต้องยื่นขอขึ้นทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

จดบริษัท

ภาพจาก Revenue Department

การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เพื่อเข้าดำเนินธุรกิจ แม้จะมีข้อยุ่งยากอยู่บ้าง แต่จะมีข้อดีเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งบริษัทจะเป็นนิติบุคคลแยกออกมาต่างหากจากบุคคลธรรมดา ความรับผิดจะจำกัดไว้เพียงจำนวนเงินเท่าที่ตนเองลงหุ้นไว้เท่านั้น มีความน่าเชื่อถือ ได้ประโยชน์ทางภาษี ไม่มีกำหนดอายุบริษัท มีคนมาร่วมคิดร่วมทำ มีโอกาสที่จะระดมทุนต่อยอดธุรกิจได้อย่างไม่มีขีดจำกัด หากธุรกิจสามารถสร้างผลกำไรที่คุ้มค่าให้แก่นักลงทุน เหล่านี้เป็นต้น